พุทธศาสน์ กับ วิทยาศาสตร์
พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์
เมื่อพูดถึง วิทยาศาสตร์ บางคนก็ไม่สนใจ เห็นเป็นเรื่องของคน
อีกพวกหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของเรา, อาตมาก็เห็นใจคนเหล่านี้;
แต่ก็จะงดไม่พูดด้วยคำคำนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่ามันกำลังมีปัญหา
ดังที่จะได้กล่าวให้ทราบต่อไป.
คำว่า วิทยาศาสตร์ นั้น เรายังเข้าใจกันอยู่แต่เพียงว่าเป็น
เรื่องวัตถุ เป็นเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องของใหม่ๆ เป็นของทำ
เทียม เป็นของทำปลอม อะไรขึ้นมาหลอกคน, เข้าใจคำว่า
วิทยาศาสตร์ ไปเสียอย่างนี้ แล้วมันก็จะ พูดกันไม่รู้เรื่อง. ที่
จริงคำว่า วิทยาศาสตร์ นั้น ใช้เป็นคำเรียก สิ่งที่มีความจริง, และ
จริงชนิดที่ปรากฏเห็นๆอยู่ และจริงชนิดที่พิสูจน์ได้ ทดลองได้ไม่
ต้องอาศัยการคำนึงคำนวณ, ไม่ต้องอาศัยความเชื่ออย่างงมงาย,
ไม่ต้องอาศัย ความยึดมั่น อย่างละเมอเพ้อฝัน. อาตมาใช้ชื่อ
ชุดการบรรยาย นี้ว่า ธรรมะในฐานะวิทยาศาตร์ นี่ก็เพราะว่า
มันเป็นความจริง ที่ธรรมะนั้น มันเป็นวิทยาศาสตร์, เราไม่รู้
ความจริงข้อนี้ ก็เลยไม่เข้าใจ ก็เกิดความชะงักงัน หรือยังเป็น
หมัน ในการที่จะใช้ธรรมะ อย่างกะว่า เป็นวิทยาศาสตร์
สิ่งซึ่งมิใช่วิทยาศาสตร์ นั้น มีอีกมากมาย ที่เขาพอใจ หลงใหล
กันนัก ในสมัยนี้ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา, คล้ายกับว่า โลก
สมัยนี้ เป็นโลกที่ เห่อปรัชญา, การเห่อปรัชญา ก็จะเป็นโรค
ระบาดเต็มโลก; อาตมาก็ต้อง ป้องกันตัว ไว้เสียก่อน คือป้อง
กันตัวของพระพุทธศาสนา หรือป้องกันตัวให้แก่พระพุทธศาสนา
ว่าอย่าให้ โรคเห่อปรัชญา มาครอบงำเอาพระพุทธศาสนา, ให้
พุทธศาสนาสามารถจะแยกตัวออกมาอยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์
สำหรับจะได้เรียนกันอย่างเรียนวิทยาศาสตร์, สำหรับจะได้ปฏิบัติ
กัน อย่างปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จึงได้พยายามชี้ให้เห็นว่า
ธรรมะในฐานะวิทยาศาสตร์.
ทีนี้ ก็จะทำความเข้าใจให้ชัดลงไปอีกว่า คำว่า ธรรม ในที่นี้
คืออะไร คำว่า ธรรมในที่นี้ ก็คือ คำที่เราใช้เป็นชื่อของสิ่งที่
เรามักเรียกกันว่า ศาสนา, ซึ่งข้อนี้ก็เคยพูดมามาก แล้วว่า
ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะครั้งพุทธกาล นั้นเขาใช้คำว่า ธรรม
เรียกชื่อ สิ่งที่เราเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ศาสนา, เช่น ปัจจุบันนี้
ถามกันว่า ท่านถือศาสนาอะไร? ในครั้งกระโน้น เขาจะถามกัน
ว่า ท่านถือธรรมะอะไร, ธรรมะข้อไหน, ธรรมะของใคร? ฉะนั้น
ตัวศาสนาก็คือตัวธรรมนั่นเอง, และการที่เอามาพูดในวันนี้คำว่า
ธรรม ในที่นี้ก็หมายถึง ระบบของพระพุทธศาสนา, พุทธศาสนา
ทั้งระบบ เราเอามาเรียกด้วยชื่อสั้นๆว่า ธรรมหรือธรรมะ, แล้ว
อยากจะให้รู้จัก สิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะนี่แหละ ว่ามัน
เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์, มันไม่ใช่เรื่องปรัชญา.
ถ้าเป็นเรื่องปรัชญา จะไม่เป็นตัวธรรมที่เป็นตัวศาสนา หรือ
ดับความทุกข์ได้, มันจะเป็นธรรมชนิดที่ไม่เกี่ยวกับความดับ
ทุกข์ มันจะเป็นเพียงธรรมสำหรับเรียน สำหรับรู้ สำหรับถก
เถียงกันเท่านั้นเอง. ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายสนใจให้ดีว่า
เมื่อพูดถึงธรรมในที่นี้ ก็คือ ธรรมที่เป็นตัวศาสนาที่สามารถ
ปฏิบัติได้, และครั้งปฏิบัติแล้วก็ดับทุกข์ได้.
ในบัดนี้ มีปัญหาคาราคาซัง กันอยู่ในที่ทั่วๆไป คือมีคนบาง
พวก กำลังเถียงกันอยู่ เกี่ยวกับคำว่า ศาสนา หรือคำว่าธรรม
ในที่นี้. เขาเถียงกันว่า พุทธศาสนานี้เป็นปรัชญา ไม่ใช่เป็น
ศาสนา อย่างนี้ก็มี; นี่เพราะเขาไม่รู้ ความหมาย ของคำว่า
ศาสนา หรือรู้เป็นอย่างอื่นไปเสีย. อาตมา เคยบอกมาหลาย
ครั้งหลายหนแล้วว่า ถ้าเป็นศาสนา จะต้องเป็นวิทยาศาสตร์,
ถ้าเป็นพุทธศาสนา จะต้องเป็นใน รูปของวิทยาศาสตร์, ไม่
เป็นไปใน รูปของปรัชญา ซึ่งเราจะต้อง ทำความเข้าใจกัน
ให้ชัดเจนต่อไป. เดี๋ยวนี้ มัวแต่ เถียงกันไป เถียงกันมา ว่า
พุทธศาสนา เป็นปรัชญา ไม่ใช่เป็นศาสนา ดังนี้บ้าง, และยัง
มีที่เถียงกัน พูดกันว่า พุทธศาสนานั้น ขัดกับวิทยาศาสตร์
ดังนี้บ้าง.
การพูดว่าขัดกับวิทยาศาสตร์นั้น สำหรับคนในสมัยปัจจุบันนี้
เขาถือว่ามันเป็นเรื่องใช้ไม่ได้, ถ้ามันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์
แล้ว มันก็ไม่เป็นความจริง. นี้เขาหาว่า พุทธศาสนา ขัดกับ
หลักวิทยาศาสตร์; เราบอกว่า ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น, พุทธศาสนา
นั่นแหละ เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เสียเอง, บางคนเป็นไปมาก
จนถึงกับว่าพุทธศาสนามิใช่ศาสนาไปเสียอีก อย่างนี้ก็มี, ด้วย
เขาไปหลงในปรัชญาให้พุทธศาสนากลายเป็นปรัชญา, เขาจึง
เรียนพุทธศาสนากัน แต่ในรูปแบบของปรัชญา เลยทำให้ ดับ
ทุกข์ไม่ได้ นี่ขอให้สนใจคำที่อาตมากำลังยืนยันว่า ถ้าเรียน
พุทธศาสนา กันใน รูปแบบของ ปรัชญา แล้ว จะไม่ดับทุกข์,
มันจะไม่เป็นการดับทุกข์. เราต้องเรียน พุทธศาสนา กันใน
รูปแบบของ ศาสนา ที่มีลักษณะ เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็ปฏิบัติ
ลงไปได้จริงๆ จนดับทุกข์ได้.
พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา, พุทธศาสนาไม่ใช่วิชาจิตวิทยา,
พุทธศาสนาไม่ใช่วิชาตรรกวิทยา, พุทธศาสนาไม่ใช่ลัทธิ
สำหรับเชื่ออย่างงมงาย; แต่พุทธศาสนาเป็นเรื่องจริงของ
ธรรมชาติ อย่างที่เรียกกันว่า เป็นวิทยาศาสตร์ สำหรับปฏิบัติ
เพื่อดับทุกข์ ตามกฏของธรรมชาติ โดยตรง. ฉะนั้น เราจง
มารู้จักพุทธศาสนา ในฐานะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ กันเสีย
ให้ถูกต้อง, จะได้ป้องกันโรคเห่อปรัชญา ที่กำลังระบาด จะ
คลุมโลกทั้งหมด; โรคเห่อปรัชญานี้ กำลังระบาดมาก จะ
คลุมโลกทั้งหมด เป็นโรคเสียอย่างนี้เสียแล้ว ก็ศึกษาพุทธ
ศาสนา ให้สำเร็จประโยชน์ไม่ได้, จึงขอโอกาส มาทำความ
เข้าใจ เรื่องนี้ กันเสีย สักคราวหนึ่ง ให้ถึงที่สุด. อาตมาก็รู้สึก
ว่า คงเป็นที่เบื่อหน่าย ของท่านทายกทายิกาบางคน เพราะ
มันเป็น เรื่องที่ฟังดูแล้ว มันคล้ายกับ คนละเรื่องของตน, แต่
อาตมาก็ได้บอกแล้วข้างต้นว่า มันเป็นความจำเป็น ที่จะต้อง
พูดกันเรื่องนี้ จึงขอโอกาสพูดเรื่องนี้ โดยชี้แจง ให้ชัดเจน
เป็นตอนๆ ไปตามลำดับ จนกว่า จะเพียงพอ.
นี่สรุปความว่า เหมือนกับขอให้ท่านบางคนทนฟัง เรื่องที่ไม่
ชวนฟัง สำหรับท่าน, แต่อาจจะชวนฟังอย่างยิ่ง สำหรับคนบาง
คน หรือ บางท่าน, อาตมาจะทำอย่างไรก็ลองคิดดู มันต้องพูด
เพื่อความจริง ให้รู้ความจริง แล้วก็พูดเพื่อให้สำเร็จประโยชน์
ในการที่จะใช้ พระพุทธศาสนา ให้เป็นประโยชน์, แล้วก็จะ
ป้องกัน พระพุทธศาสนา ให้พ้นจาก ภัยอันตราย ของโรค
ระบาด คือการเห่อปรัชญา ให้หันมามองดู พระพุทธศาสนา
ในฐานะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์.
ธ-วิทยา ๑๕.ข/๑-๔
คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒ เรียบเรียงโดย
นาย พินิจ รักทองหล่อ พิมพ์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ